วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2556

หลักความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง

หลักความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง หลักความชอบด้วยกฎหมายปกครอง หมายถึง การกระทำใดๆของฝ่ายปกครองจะต้องเคารพต่อกฎหมาย จะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดและจะทำนอกขอบอำนาจที่กฎหมายกำหนดไม่ได้ ดังนั้นแม้ในทางปฏิบัติฝ่ายปกครองจะมีอำนาจมากเพียงใดก็ตาม ฝ่ายปกครองก็จะต้องดำเนินการตามกรอบของกฎหมาย มีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ 1.) เจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งทางปกครอง จะต้องมีอำนาจตามกฎหมาย คือ เป็นหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งที่จะใช้อำนาจและปฏิบัติหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วยตนเอง เว้นแต่ในบางกรณีที่ตนได้มอบอำนาจหรือมอบหมายให้แก่บุคคลผู้อื่นปฏิบัติราชการแทนได้ตามกฎหมาย 2.) คำสั่งทางปกครองและมาตรการบังคับทางปกครอง จะต้องชอบด้วยรูปแบบขั้นตอนและวิธีการที่เป็นสาระสำคัญตามที่กฏหมายกำหนด เช่น หลักการยื่นคำร้องจะต้องยื่นคำร้องก่อนออกคำสั่งทางปกครองและจะต้องได้รับการอนุญาตและอนุมัติทั้งหลาย จึงจะมีอำนาจในการออกคำสั่งทางปกครองได้ หลักการรับฟังความบุคคลที่เกี่ยวข้อง เป็นหลักการสำคัญที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องคำนึงเสมอในการพิจารณาทางปกครอง หลักการดังนี้ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ซึ่งบัญญัติว่าในกรณีที่คำสั่งทางปกครองอาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณีเจ้าหน้าที่จะต้องให้คู่กรณีมีโอกาสที่จะได้รับข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงหลักฐานของตน 3.) แบบของการกระทำแบ่งออกเป็นกฎหมายปกครองเฉพาะเรื่อง และกฎหมายปกครองกลางแบบปกครองเฉพาะเรื่อง เช่น พระราชบัญญัติการสาธารณะสุข พ.ศ.2535 ส่วนกฎหมายปกครองกลางหมายถึง พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการการปกครอง พ.ศ.2539 การออกคำสั่งต้องทำเป็นหนังสืออย่างน้อยต้องระบุ วัน เดือน และปี ที่ทำคำสั่ง ชื่อ และตำแหน่งของเจ้าหน้าทีผู้ทำคำสั่งพร้อมทั้งลายมือชื่อของเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งนั้น 4.) หลักการใช้เหตุผล การให้เหตุผลถือเป็นสาระสำคัญในส่วนของวิธีสาระบัญญัติประการหนึ่ง คำสั่งการปกครองที่ออกเป็นลายลักษณ์อักษรแต่ไม่มีการให้เหตุผลในคำสั่งทางปกครองอาจเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฏหมายในทางวิธีสาระบัญญัติได้ตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการการปกครองได้บัญญัติให้คำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือและการยืนยันคำสั่งทางปกครองเป็นหนังสือต้องจัดให้มีเหตุผลไว้ด้วยและเหตุผลนั้นอย่างน้อยต้องประกอบด้วย ก) ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข) ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ค) ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ หลักการในเหตุผลดังกล่าวไม่นำมาใช้บังคับกับกรณีที่มีผลตามคำขอและไม่กระทบสิทธิ์และหน้าที่ของบุคคลอื่น กรณีที่เหตุผลนั้นเป็นที่รู้กันอยู่แล้วโดยไม่จำเป็นต้องระบุอีก กรณีที่ต้องรักษาไว้เป็นความลับตามมาตรา 32 และกรณีที่เป็นคำสั่งทางปกครองด้วยวาจา หรือเป็นกรณีเร่งด่วนแต่ต้องให้เหตุผลเป็นลายลักษณ์อักษรในเวลาอันควร หากผู้อยู่ในบังคับของคำสั่งนั้นร้องขอ ทังนี้ตามที่บัญญัติในมาตรา 37 วรรค 3 แต่อย่างไรก็ตาม ม. 37 ว. 2 ยังได้บัญญัติให้นายกรัฐมนตรี หรือผู้ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายอาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้คำสั่งทางปกครองทำเป็นหนังสือและต้องระบุเหตุผลในคำสั่งหรือเอกสารแนบท้ายคำสั่ง 5.) คำสั่งทางปกครองหรือมาตรการทางปกครอง จะต้องไม่ขัดกับกฎหมาย รวมทั้งหลักกฎหมายทั่วไปด้วย คำสั่งทางปกครองหรือมาตรการทางปกครองที่ออกโดยอาศัยอำนาจจากกฏหมายฉบับใดฉบับหนึ่งจะต้องไม่ขัดแย้งกับกฏหมายแม่บทที่ให้อำนาจในการออกคำสั่งและมาตรการนั้นๆ นอกเหนือจากจะไม่ขัดแย้งกับกฎหมายแม่บทที่ให้อำนาจแล้วยังจะต้องไม่ขัดแย้งกับกฏหมายทั้งหลายที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่ 6.) กฎหมายที่ให้อำนาจในการออกคำสั่งทางปกครอง จะต้องชอบด้วยกฎหมาย คือ การออกกฎหมายต้องไม่กระทบสิทธิของบุคคล กรณีนี้เมื่อมีกฎหมายให้อำนาจในการออกคำสั่งทางปกครองแล้วจะถือว่าชอบด้วยกฎหมายแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้ได้อย่างเกินอำนาจโดยไปกระทบสิทธิของคู่กรณีหรือประชาชนไม่ได้ กรณียังต้องตรวจสอบต่อไปว่ากฎหมายที่ให้อำนาจในการออกคำสั่งทางปกครองหรือมาตรการการทางปกครองนั้นชอบด้วยกฏหมายหรือไม่ กล่าวคือ มีกรณีที่ต้องตรวจสอบดังนี้ ประการแรก หากกฎหมายที่ให้อำนาจนั้นเป็นพระราชบัญญัติจะต้องตรวจสอบว่าพระราชบัญญัตินั้นมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ประการที่สอง หากกฎหมายที่ให้อำนาจนั้น “กฎหมายลำดับรอง”จะต้องตรวจสอบว่า“กฎหมายลำดับรอง” นั้น มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งต้องตรวจสอบด้วยความชอบด้วยกฎหมายกับกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ และความชอบด้วยรัฐธรรมนูญด้วย ในกรณีคำสั่งทางปกครองหรือมาตรการทางปกครองที่ออกโดยอำนาจตามกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือขัดต่อกฎหมายระดับพระราชบัญญัติย่อมมีผลทำให้คำสั่งทางปกครอง หรือมาตรการทางปกครองนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย 7.) คำสั่งทางปกครองหรือมาตรการทางปกครองนั้นจะต้องไม่มีข้อบกพร่องในการใช้ดุลพินิจ ในกรณีที่กฎหมายได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่มีอิสระในการเลือกมาตรการใดมาตรการหนึ่งที่อยู่ในส่วนผลของกฎหมายซึ่งเรียกว่า “ดุลพินิจ” เจ้าหน้าที่ก็จะต้องใช้ดุลพินิจนั้นในขอบเขตที่กฎหมายกำหนด การไม่ใช่ดุลพินิจที่กฎหมายกำหนดย่อมทำให้คำสั่งทางปกครองนั้นไม่ชอบด้วยกกหมายได้ การใช้ดุลพินิจที่เป็นความบกพร่องของกฎหมายอาจแยกออกได้ดังนี้ 1.การใช้ดุลพินิจเกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนด 2.การไม่ใช้ดุลพินิจ 3.การใช้ดุลพินิจโดยขัดกับวัตถุประสงค์ของกฎหมาย 4.การใช้ดุลพินิจละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน หรือหลักกฏหมายปกครองทั่วไป 8.) คำสั่งทางปกครอง หรือมาตรการทางปกครองนั้นจะต้องสอดคล้องกับหลักความพอสมควรแก่เหตุ หรือหลักความได้สัดส่วน มาตรการที่มีความเหมาะสมหมายถึง มาตรการที่อาจบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดนั้นได้ มาตรการที่จำเป็น หมายถึง มาตรการที่มีความเหมาะสมดังกล่าวข้างต้นอันเป็นมาตรการที่ก่อให้เกิดผลกระทบ สิทธิ์ต่อบุคคลได้น้อยที่สุด มาตรการที่ได้สัดส่วนหมายถึง มาตรการที่มีความเหมาะสมและจำเป็นดังกล่าวข้างต้น เป็นมาตรการที่เมื่อพิจารณาผลกระทบกับผลที่ได้รับแล้วอยู่ในสัดส่วนที่สมเหตุสมผล 9.) หลักความแน่นอนชัดเจน หลักนี้เป็นหลักที่เรียกร้องโดยตรงต่อคำสั่งทางปกครอง คำสั่งทางปกครองจะต้องมีความแน่นอนชัดเจนเพื่อให้ผู้รับคำสั่งทางปกครองได้ทราบว่าเจ้าหน้าที่ประสงค์จะให้ ผู้รับคำสั่งทางปกครองกระทำการใด หรือไม่กระทำการใด หากความแน่นอนชัดเจนนั้นมีผลมาจากลักษณะของคำสั่งทางปกครอง เพราะคำสั่งทางปกครองนั้นมีลักษณะเป็นรูปธรรม-เฉพาะราย ด้วยเหตุนี้เจ้าหน้าที่จะต้องทำให้ลักษณะทั่วไปของบทบัญญัติแห่งกฎหมายมีลักษณะเป็นรูปธรรม-เฉพาะราย ดังนั้น คำสั่งทางปกครองไม่สามารถทราบได้แน่ชัดว่าใครคือผู้รับคำสั่งทางปกครองก็ดี หรือไม่สามารถทราบเจตนาของเจ้าหน้าที่ได้ว่าเจ้าหน้าที่ประสงค์จะให้ผู้รับคำสั่งทางปกครองกระทำใดหรือไม่กระทำการใด คำสั่งทางปกครองดังกล่าวอาจเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ 10.) เงื่อนไขชอบด้วยกฎหมายในกรณีอื่นๆ เช่น เงื่อนไขในกรณีนี้มีผลมาจากตรรกะในทางกฎหมาย และจากข้อจำกัดในทางข้อเท็จจริง โดยทั่วไปแล้วคำสั่งทางปกครองจะชอบด้วยกฎหมายเมื่อคำสั่งทางปกครองนั้นมีความมุ่งหมายเพื่อกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งในทางข้อเท็จจริงก็ดี หรือในทางกฎหมายก็ดีเป็นการกระทำที่อาจบรรลุความมุ่งหมายตามคำสั่งนั้นได้ ตัวอย่างเช่น กรณีที่มีข้อจำกัดในทางข้อเท็จจริง เช่น การจดทะเบียนสมรสที่ทำระหว่างชายกับชาย เว้นแต่ข้อกฎหมายจะยอมรับให้จดทะเบียนสมรสกันได้ กรณีที่มีข้อจำกัดในทางกฎหมาย เช่น การออกคำสั่งให้ผู้เป็นเจ้าของอาคารขนย้ายของจากอาคาร ในขณะที่ผู้เป็นเจ้าของอาคารได้ให้เช่าอาคารดังกล่าว ในกรณีนี้ก็จะต้องออกคำสั่งต่อผู้เช่าอาคารไม่ใช่ผู้เป็นเจ้าของอาคาร ผู้ได้รับคำสั่งมิให้เป็นผู้ครอบครองอาคารอีกต่อไปแล้ว แต่ได้ให้ผู้อื่นเช่า อาคารพิพาทจึงตกเป็นของผู้เช่าคนปัจจุบัน คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงไม่มีผลบังคับให้อุทธรณ์ต้องปฏิบัติตาม มาตรา 30 ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองอาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณี เจ้าหน้าที่ต้องให้คู่กรณีมีโอกาสที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับในกรณีดังต่อไปนี้ เว้นแต่เจ้าหน้าที่จะเห็นสมควรปฏิบัติเป็นอย่างอื่น (1) เมื่อมีความจำเป็นรีบด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือจะกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ (2) เมื่อจะมีผลทำให้ระยะเวลาที่กฎหมายหรือกฎกำหนดไว้ในการทำคำสั่งทางปกครองต้องล่าช้าออกไป (3) เมื่อเป็นข้อเท็จจริงที่คู่กรณีนั้นเองได้ให้ไว้ในคำขอ คำให้การหรือคำแถลง (4) เมื่อโดยสภาพเห็นได้ชัดในตัวว่าการให้โอกาสดังกล่าวไม่อาจกระทำได้ (5) เมื่อเป็นมาตรการบังคับทางปกครอง (6) กรณีอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ให้โอกาสตามวรรคหนึ่ง ถ้าจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะ มาตรา 32 เจ้าหน้าที่อาจไม่อนุญาตให้ตรวจดูเอกสารหรือพยานหลักฐานได้ ถ้าเป็นกรณีที่ต้องรักษาไว้เป็นความลับ มาตรา 37 คำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือและการยืนยันคำสั่งทางปกครองเป็นหนังสือต้องจัดให้มีเหตุผลไว้ด้วย และเหตุผลนั้นอย่างน้อยต้องประกอบด้วย (1) ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ (2) ข้อกฎหมายที่อ้างอิง (3) ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ นายกรัฐมนตรีหรือผู้ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายอาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนด ให้คำสั่งทางปกครองกรณีหนึ่งกรณีใดต้องระบุเหตุผลไว้ในคำสั่งนั้นเอง หรือในเอกสารแนบท้ายคำสั่งนั้นก็ได้ บทบัญญัติตามวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับกับกรณีดังต่อไปนี้ (1) เป็นกรณีที่มีผลตรงตามคำขอและไม่กระทบสิทธิและหน้าที่ของบุคคลอื่น (2) เหตุผลนั้นเป็นที่รู้กันอยู่แล้วโดยไม่จำต้องระบุอีก (3) เป็นกรณีที่ต้องรักษาไว้เป็นความลับตาม มาตรา 32 (4) เป็นการออกคำสั่งทางปกครองด้วยวาจาหรือเป็นกรณีเร่งด่วน แต่ต้องให้เหตุผลเป็นลายลักษณ์อักษรในเวลาอันควรหากผู้อยู่ในบังคับของคำสั่งนั้นร้องขอ บรรณานุกรม บรรเจิด สิงคะเนติ,หลักว่าด้วยการดำเนินการสรรหาตามหลักกฎหมายมหาชน.พิมพ์ที่ 1.กรุงเทพฯ: Sat 4 printing,2551 นันทวัฒน์ บรมานันท์,กฎหมายปกครอง.พิมพ์ครั้งที่2.กรุงเทพฯ:บริษัท สำนักพิมพ์วิญญูชน จำกัด,2553 พันตำรวจเอก อังกูร วัฒนรุ่ง. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ.ความชอบด้วยกฎหมายของกฎหมายปกครอง.[Online]. : www.bpp.go.th/.../ความชอบด้วยกฎหมายตาม%20พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติฯ...‎[15 ส.ค. 2554] สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา.พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการการปกครอง พ.ศ. 2539.[Online]. : www.oic.go.th/content/act/5_2539.pdf‎

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น